วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เดินเล่นริมจันทบูนในจันท์

จากกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ภาพความศิวิไลซ์ในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า ผู้คนเดินเบียดเสียด และรถติดยาวเหยียดสุดสายตา ก็ถูกแทนที่ด้วยความเรียบง่ายของ "ชุมชนริมน้ำจันทบูร" ชุมชนเล็ก ๆ ที่แฝงตัวอยู่กลางใจเมืองจันทบุรี ที่ซึ่งเราอยากให้คุณได้มาใช้ชีวิตอย่างเนิบช้า เพื่อจะพบว่า 1 วันในชุมชนแห่งนี้มีความสุขเล็ก ๆ ซุกซ่อนอยู่ให้หอบกลับมาเก็บไว้ในกล่องความทรงจำและยิ้มได้ทุกครั้งเมื่อคิดถึงเมืองจันท์
รื้อฟื้นวันวานที่งดงามชุมชนริมน้ำจันทบูรตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี บนถนนสุขาภิบาล ที่เดิมมีชื่อว่า "ถนนเลียบนที" ถนนสายแรกของจังหวัดที่มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร  ทั้งสองฟากฝั่งถนนเรียงรายไปด้วยบ้านเรือนไม้เก่าแก่และอาคารร้านรวงแบบโบราณมากมาย ชวนให้ผู้มาเที่ยวชมไม่รอช้าที่จะหยิบกล้องขึ้นลั่นชัตเตอร์บันทึกความทรงจำกันตั้งแต่แรกพบ คงมีน้อยคนนักที่รู้ว่า ในอดีตเมื่อราว 300 ปีก่อน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชุมชนแห่งนี้เป็นทำเลทองของเมืองท่าการค้า และความรุ่งเรืองยังคงสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุครุ่งเรืองสูงสุดของเมืองจันทบูร ในแต่ละวันมีพ่อค้าชาวจีนเดินทางหลั่งไหลมารับสมุนไพร เช่น กระวาน พริกไทย เครื่องเทศต่างๆ ไปขาย ขณะเดียวกันพ่อค้าเหล่านี้ก็นำผ้าไหมและสิ่งของจากจีนเข้ามาขายคนไทยด้วย  ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกพัฒนามากขึ้น ประกอบกับการขยายเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เมืองจันทบูรจึงถูกลดบทบาทลง เป็นเพียงเมืองท่าที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น 
>>>ซึมซับวิถีจันท์
ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน และญวน สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยจันทบูรยังเป็นเมืองท่าการค้า ที่ทั้งคนจีนและคนญวนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ทว่าความหลากหลายทางเชื้อชาติไม่ได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนแตกต่างกัน พวกเขาอยู่อย่างเรียบง่ายร่วมกันในชุมชน และสามัคคีกลมเกลียวกันเพื่อสงวนรักษาชุมชนไวและเราผู้มาเยือนหากอยากเรียนรู้จักวิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้ ก็ต้องไปเดินเที่ยว "สามย่าน" ริมฝั่งน้ำ ด้วยพื้นที่ของชุมชนริมน้ำจันทบูรนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ย่านท่าหลวง ย่านตลาดกลาง และย่านตลาดล่าง ซึ่งแต่ละย่านก็มีความน่าสนใจต่างกัน ไปเริ่มต้นกันที่ย่านท่าหลวง  ในอดีตท่าหลวงคือท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ริมแม่น้ำจันทบุรี และเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการ รูปแบบอาคารในย่านนี้จึงมีลักษณะคล้ายๆ กัน  อาคารบ้านเรือนเหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นที่อยู่อาศัยสืบช่วงกันมาหลายรุ่น  จนปัจจุบันเจ้าของอาคารบางหลังก็เปิดให้ผู้คนเช่าอาศัย บ้างเปิดให้คนรุ่นใหม่เช่าทำธุรกิจร้านอาหาร ขณะที่บางหลังก็ยังคงเป็นที่พักอาศัยอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น