“ตุ๊กตามาตรีออซคา” (Matryoshka doll) หรือในภาษารัสเซียเรียกว่า Матрёшка кукла เป็นคำเรียกลักษณะของตุ๊กตาซ้อนซ่อนตุ๊กตา เนื่องจากภายในตัวตุ๊กตามาตรีออซคา จะมีตุ๊กตาแบบเดียวกันซ่อนอยู่ด้านใน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นกลุ่มตุ๊กตาที่สร้างขึ้นเป็นชุด ให้มีหลายๆ ขนาด แต่ละขนาดก็จะค่อยๆ เล็กลงมาเรื่อยๆ และทั้งหมดนี้จะบรรจุไว้ภายในตุ๊กตาตัวที่ใหญ่ที่สุดเพียงตัวเดียว ส่วนใหญ่ข้างในมักมีอยู่ด้วยกันประมาณ 5 ตัว นับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นเมืองของรัสเซีย รวมทั้งยังเป็น “ตุ๊กตาสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์พูนสุขของชีวิต” และเป็นของที่ระลึกจากรัสเซียที่รู้จักกันไปทั่วโลก
บางครั้งในภาษารัสเซีย ยังมีผู้เรียกตุ๊กตาชนิดนี้ว่า “ตุ๊กตาบาบัสคา” (Babushka doll) ซึ่งหมายถึง ตุ๊กตาคุณยาย แต่ทว่าชื่อดังกล่าวนี้ กลับไม่ใคร่มีใครเรียกหากันมากนัก ในขณะเดียวกัน เนื่องจากตุ๊กตามาตรีออซคามีลักษณะคล้ายกับคุณแม่ที่มีลูกๆ ตามมาอีกมากมาย จึงมีคำเรียกในภาษาไทยว่า“ตุ๊กตาแม่ลูกดก”
ลักษณะของตุ๊กตามาตรีออซคา จะทำมาจากไม้ รูปร่างทรงกระบอก ด้านบนเป็นส่วนศีรษะปลายมน ลำตัวป่องกลาง ส่วนใหญ่แล้ว ตุ๊กตามาตรีออซคาจะไม่มีแขนขายื่นออกมาให้เห็น การสร้างให้เห็นเป็นรูปแขนจึงต้องใช้วิธีการวาด และระบายสีเพิ่มเติมลงไป และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตุ๊กตามาตรีออซคาก็คือ มักจะเป็นรูปของผู้หญิงหน้าตาน่ารัก แต่งกายด้วยชุด ซาราฟาน (Sarafan) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองประจำชาติของผู้หญิงรัสเซีย ส่วนบริเวณกลางลำตัวตุ๊กตาจะสามารถเปิดออกได้ เพราะเป็นการสร้างขึ้นมาด้วยการประกบจากไม้ทั้งสองส่วน โดยใช้วิธีบิดเกลียวเปิดตรงส่วนกลางออก และเมื่อเปิดออกแล้ว ข้างในก็จะมีตุ๊กตามาตรีออซคาในแบบเดียวกัน (แต่มีขนาดที่เล็กกว่า) ซ่อนอยู่ด้านใน หลังจากนั้น ในทุกๆ ตัวก็จะสามารถบิดเปิดออกได้เช่นเดียวกัน ตัวแล้วตัวเล่า และในตุ๊กตาตัวสุดท้าย นอกจากจะเป็นตัวที่เล็กที่สุดในกลุ่มแล้ว ตุ๊กตาตัวสุดท้ายนี้จะเป็นตัวทึบตัน และไม่สามารถเปิดออกได้อีก
ประวัติความเป็นมาของตุ๊กตามาตรีออซคา มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า มีบาทหลวงชาวรัสเซียได้นำตุ๊กตาเทพเจ้าญี่ปุ่นมาจากเกาะฮอนชู โดยในตุ๊กตาตัวนั้นมีซ้อนตุ๊กตาตัวอื่นๆ ไว้ภายใน ท่านจึงได้ทดลองสร้างตามแบบอย่างดังกล่าว จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
แต่เรื่องที่มีหลักฐานข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแรงบันดาลใจจากตุ๊กตาของญี่ปุ่นนั้น ได้แก่เหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ.1890 จิตรกรชาวรัสเซียชื่อว่า เซียเกร์ มาลุยติน (Sergei Maliutin) ได้มีโอกาสเห็นตุ๊กตาไม้แกะสลักจากญี่ปุ่นที่นำมาแสดงนิทรรศการศิลปะในรัสเซีย คือ ตุ๊กตาเทพเจ้า “ฟุกุโระกุจู” (Fukurokuju - 福禄寿) เทพเจ้าแห่งความสุข ผู้เป็น 1 ใน 7 เทพเจ้าแห่งความโชคดี ตามคติความเชื่อแบบญี่ปุ่น เพราะในตัวของตุ๊กตาเทพเจ้าฟุกุโระกุจูนั้น ยังมีกลุ่มตุ๊กตาเทพเจ้าอีก 6 องค์ซ่อนไว้อยู่ภายในเป็นชั้นๆ สร้างความประทับใจและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้แก่ มาลุยติน เป็นอันมาก จนทำให้เขาได้ร่วมมือกับช่างแกะสลักคือ วาร์ซิลี ซเวซดอซกิน (Vasiliy Zvezdochkin) ช่วยกันออกแบบสร้างตุ๊กตาในแบบฉบับรัสเซีย โดยได้ผสมผสานแนวความคิดการทำศิลปะแกะสลักผลแอ๊ปเปิ้ลไม้ รวมเข้ากับการระบายสีสัน และตกแต่งอย่างสวยงามใน ไข่ฟาเบร์เช่ (Fabergé eggs) หรือไข่อีสเตอร์ ที่ประดับตกแต่งอย่างงดงามของรัสเซีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น