วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

7 มิวเซียมจิ๋วแต่แจ๋วในกรุงเทพฯ สำหรับคนเบื่อห้าง

1. บ้านปาร์คนายเลิศ
 
เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบบ้านเก่ามากๆ ชอบเฟอร์นิเจอร์สุดคลาสสิค ชอบข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ พอได้ยินข่าวว่าบ้านปาร์คนายเลิศเปิดให้เข้าชม เราจึงมุ่งตรงไปทันที! เจ้าของบ้านเรือนไม้สักอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระยาภักดีนรเศรษฐ (นายเลิศ เศรษฐบุตร) มหาเศรษฐีผู้บุกเบิกกิจการหลายอย่างในประเทศไทย เช่น โรงน้ำแข็ง รถเมล์ เรือเมล์ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเศรษบุตรบำเพ็ญ
 
 
ไฮไลท์เด็ดของบ้านอยู่ที่ของสะสมนานาชนิดของสมาชิกตระกูลเศรษบุตรกว่า 3 ยุค ไม่ว่าจะเป็น เหรียญและเครื่องราชฯ เครื่องปั้นดินเผาจากบ้านเชียง ภาชนะเครื่องเคลือบจากจีน ของสะสมจากการเดินทางรอบโลก และอื่นๆ อีกมากมาย รับรองว่าคนที่ชอบของเก่าเดินเพลินแน่ๆ และนอกจากนี้รอบนอกตัวบ้านยังมีโรงจอดเรือ ‘สมันเตา’ และ ‘ฆ์ง’ (อ่านว่า คะ-งอ) ซึ่งเป็นเรือที่นายเลิศขับขี่เป็นประจำ รวมทั้งรถเมล์ขาวสายพระโขนง-กษัตริย์ศึก รถเมล์สายแรกๆ ของไทยอีกด้วย
 
บ้านปาร์คนายเลิศ ถ.วิทยุ เวลาทำการ พฤหัสบดี-ศุกร์ นำชมโดยมัคคุเทศก์ 3 รอบต่อวันคือ 11.00 น., 14.00 น. และ 16:00น. โทร. 02-655-4775-6 บัตรราคา 500 บาท

2. พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้
 
ในฐานะคนที่เห็นพวงมาลัยในชีวิตประจำวันจนชินตา เราไม่ได้รู้สึกว่ามันพิเศษอะไรนัก แต่พอได้ไปพิพิธภัณธ์วัฒนธรรมดอกไม้ เราถึงได้เข้าใจว่ามีเรื่องราวและความพิถีพิถันซ่อนอยู่ในดอกไม้ที่ร้อยเรียงต่อกันเป็นเส้นสาย ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง เราอยากแนะนำให้ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมบนถนนสามเสน ซึ่งก่อตั้งโดย สกุล อินทกุล นักจัดดอกไม้ชื่อดังผู้เคยฝากฝีมือไว้ในงานอันทรงเกียรติอย่างงานเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อพ.ศ. 2549  ภายในบ้านไม้สักโบราณอายุกว่า 100 ปีแบ่งเป็น 6 ห้อง จัดแสดงงานฝีมือจากดอกไม้ทั้งของไทยและต่างชาติ เช่น อินเดีย ญีปุ่น และจีน
 
 
เมื่อดูเสร็จ อย่าลืมพักจิบชาที่ Dok Mai Thai Salon du Thé  ความพิเศษคือชาแต่ละชนิดได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางรอบโลกของคุณสกุล เช่น Turkish Promegranate Cinnamon Tea และ Kashmiri Spiced Milk Tea หรือจะเลือกสั่งเป็นเซ็ตก็จะได้ขนมไทยมาทานเล่นคู่กับชา นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ยังจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับดอกไม้อยู่เป็นประจำ เช่น ม่านมาลัยดอกไม้ มาลัยแขก กระทง เช็ควันเวลาเวิร์กช็อปได้ที่หน้าเพจ Museum of Floral Culture
 
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ถ.สามเสน ซอย 28 เวลาทำการ อังคาร-อาทิตย์ 10.00-18.00 น. โทร.02-669-3633 บัตรผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 75 บาท

3. พิพิธภัณฑ์หอยกรุงเทพฯ
 
เราเชื่อว่าตอนเด็กๆ ทุกคนต้องเคยเล่นเก็บเปลือกหอยที่ริมชายหาดกันทั้งนั้น ถ้าใครอยากเดินทางย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กตัวน้อยในชุดว่ายน้ำและอุปกรณ์ขุดทราย เราอยากแนะนำให้ไปพิพิธภัณฑ์หอยกรุงเทพฯ ซึ่งรวบรวมเปลือกหอยสวยงามจากทั่วโลกรวมถึง 624 ชนิด ราว 10,000 ตัวบนอาคาร 3 ชั้นริมถนนสีลม ไฮไลท์เด็ดที่ต้องไปดูคือ เปลือกหอยมีเสือยักษ์จากประเทศอินโดนีเซียซึ่งหนักกว่า 300 กิโลกรัม! ฟอซซิลแอมโมไนต์อายุมากกว่า 100 ปีจากประเทศเยอรมัน และเปลือกหอยทากมรกตซึ่งสูญพันธ์ไปแล้วส่งตรงมาจากเกาะปาปัว ต้องไปเห็นด้วยตาตัวเองให้ได้นะ
 
 
พิพิธภัณฑ์หอยกรุงเทพฯ 1043-1043/1 ซอยสีลม 23 เวลาทำการ ทุกวัน 10.00-18.30 น. โทร.02-234-0291 บัตรผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก/นักเรียนนักศึกษา (แสดงบัตร) 50 บาท
4. พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
เห็นคำว่าเครื่องถ้วยแล้วหลายคนอาจจะถอนหายใจ คิดไปถึงเรื่องราวน่าเบื่อในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ แต่ต่อให้เป็นคนที่ไม่อินกับเครื่องปั้นดินเผา เราก็ยังอยากแนะนำให้ไปพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะประสบการณ์การเดินเข้าไปในอาคารที่ซ่อนตัวอยู่ในชั้นใต้ดินห่างไกลจากคำว่าน่าเบื่อไปมากโข! และภายในก็จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาโบราณทั้งที่ผลิตในไทยและในต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นผู้เก็บสะสมไว้ จุดที่เราประทับใจมากๆ คือที่นี่มีโซน ‘หยิบฉัน สัมผัสฉัน’ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้มือสัมผัสเครื่องปั้นดินเผาโบราณแบบไม่มีหวง แต่ยังไงก็ต้องระมัดระวังนะ! พิพิธภัณฑ์อาจจะเล็กหน่อย แต่เราว่าคุ้ม!
 
 
พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ถ.พหลโยธิน เวลาทำการ จันทร์-เสาร์ 09.00-16.00 น. โทร.02-902-0299 ต่อ 2890

5. บ้านหมอหวาน
 
เด็กๆ รุ่นเราอาจไม่คุ้นเคยกับยาหอมซักเท่าไหร่ ใกล้เคียงที่สุดก็คงเคยเห็นปู่ย่าตายายชงน้ำกิน แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นผงๆ อะไรไม่รู้นั่นคือสมุนไพรชั้นดีที่ช่วยบำรุงร่างกายได้นะ บ้านหมอหวานเป็นผลผลิตจากความตั้งใจที่จะ ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ ของนายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5-8 หมอหวานมุ่งมั่นจะสืบทอดแพทย์แผนไทยเอาไว้ สวนกระแสสังคมในยุคหลังพ.ศ. 2466 (หลังมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉบับแรก) ที่ผู้คนคนหันไปพึ่งแพทย์แผนตะวันตกจนวิชาแพทย์แผนไทยเกือบสูญหาย
 
 
ปัจจุบันบ้านบ้านสไตล์โคโลเนียลแห่งนี้เปิดประตูต้อนรับผู้ที่มาซื้อยาหอม รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้าชมอุปกรณ์ปรุงยาแบบโบราณและขวดยาเก่าๆ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี ถ้าไปแล้วอย่าลืมซื้อยาหอมสูตรโบราณฝากญาติผู้ใหญ่ด้วยล่ะ หรือจะซื้อมากินเองก็ไม่ผิดนะ ลองเลือกจาก 4 สูตรเด็ด สุรามฤทธิ์ อินทรโอสถ ประจักร์ หรือสว่างภพ (575-2,565/กล่อง) ได้เลย
 
บ้านหมอหวาน 9 ซอยเทศา ถ.บำรุงเมือง เวลาทำการ ทุกวัน 09.00-17.00 น. โทร. 02-221-8070 ไม่มีค่าเข้าชม

6. บ้านพิพิธภัณฑ์
 
เราชอบสโลแกน ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’ ของบ้านพิพิธภัณฑ์มาก เพราะมันกำลังบอกเราให้ดูแลรักษาของดีๆ จะได้เอาไว้ให้ลูกหลานดูเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน รวมทั้งตัวเราเองยามแก่ตัวไปจะได้รำลึกถึงวันเก่าๆ ด้วย เอนก นาวิกมูล นักเขียนและนักวิชาการคนสำคัญของไทย เป็นผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ขึ้นโดยรวบรวมของใช้ในชีวิตประจำวันจากยุคตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน ทั้งของตัวเองและเพื่อนๆ มาจัดแสดงในอาคาร 3 ชั้นซึ่งเป็นเสมือนไทม์แมชชีนที่จะพาเราข้ามเวลาไปในอีกยุคหนึ่งที่นี่มีของน่าสนใจเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น ตู้ เตียงป้ายโฆษณา แก้วน้ำ หนังสือเรียน ของเล่น ของแถม และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีกิมมิคการจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ เช่น ร้านขายยา โรงหนัง ร้านทำฟัน ห้องเรียน ร้านกาแฟ เด็กวัยรุ่นอาจจะทันแค่บางอย่าง แต่ถ้าผู้ใหญ่เดินเข้าไปก็ต้องมีนอสตาลเจียคิดถึงวัยเด็กกันบ้างแหละน่า
 
บ้านพิพิธภัณฑ์ 170/17 หมู่ 17 ถ.ศาลาธรรมสพน์ ซอย 3 เวลาทำการ เสาร์-อาทิตย์ 10.00-17.00 น. บัตรผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 10 บาท

 
ย้อนไปเมื่อประมาณ 85 ปีที่แล้วอาคารสีเหลืองบริเวณหัวมุมแยกเสือป่า คลินิกเล็กๆ ชื่อห้างขายยาเบอร์ลิน ได้เปิดรักษาชาวบ้านเป็นครั้งแรกโดยนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ ผู้ที่ต่อมาก่อตั้งบริษัทยาชั้นนำของไทยอย่าง เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอล วันนี้บริเวณชั้นล่างของตึกหลังเดิมได้ถูกเปลี่ยนให้เป็น พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินที่หลายคนกำลังพูดถึง
 
 
นอกจากจะบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์ยาแผนตะวันตกในไทยแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองหน้าตาของห้องรักษาคนไข้ในในสมัยจากความทรงจำของหลายๆ คนที่เคยแวะเวียนมารักษากับหมอชัยตัวจริง ส่วนในมุมปรุงยาเราจะได้เห็นหน้าตาของขวดและฉลากยาในสมัยก่อนไล่มาจนถึงปัจจุบัน เราว่าเป็นอีกจุดที่น่าแวะไปถ้าใครกำลังจัดทริปทัวร์ไชน่าทาวน์ เพราะที่ตั้งเองก็ไม่ไกลจากวัดเล่งเน่ยยี่และเยาวราชเลย จอดรถที่โรงพยาบาลกลางแล้วเดินไปก็สะดวกนะ
 
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน แยกเสือป่าตัดกับถนนเจริญกรุง เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร เวลา 9.00-17.00น. โทร. 02-225-4700 fb.com/BerlinPharmaceuticalMuseumBangkok
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น